วันที่ 22 ก.ย.67 ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจาก น.ส.สุรินธิดา (สงวนนามสกุล) อายุ 40 ปี ชาว ต.บ้านด่าน อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์ ทำงานเป็นพนักงานจ้างตามภารกิจ ของ อบต.พรสำราญ อ.คูเมือง ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และอยากให้เป็นสื่อกลางฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองและครอบครัว
น.ส.สุรินธิดา เล่าว่า เข้าทำงานที่ อบต.พรสำราญ ตั้งแต่ปี 2556 และเมื่อปี 2562 กองทุน กยศ.ได้มีหนังสือจะหักเงินยืมเรียนจาก กยศ.ตนก็รับปฏิบัติ จากนั้นเป็นต้นมา เงินเดือนจะถูกกองคลังของ อบต.หักทุกเดือนๆละ 1,200 บาท
พอมาถึงปี 2566 เงินเดือนของตนได้เข้าบัญชีเต็มจำนวน คือไม่มีการหักเงินออกไป จึงเข้าไปสอบถามกองคลังของ อบต.ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า ไม่มีรายชื่อจาก กยศ.ส่งมาให้หักจึงไม่ได้หัก การเงินจะหักได้ก็ต่อเมื่อ กยศ.แจ้งรายชื่อมาว่า มีใครบ้างที่จะถูกหักและหักคนละเท่าไหร่ ถ้าไม่มีรายชื่อ กองคลังจะไม่มีสิทธิ์หักเงินเดือนได้
น.ส.สุรินดา เล่าด้วยว่า ส่วนหนึ่งคิดว่า กยศ.น่าจะหักพอแล้ว หรืออาจจะเป็นนโยบายของรัฐบาล แต่ละยุคที่มีการลดแลกแจกแถม จึงไม่ได้สนใจ และทำงานใน อบต.ของตัวเองตามปกติ แต่เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ตนได้รับหมายศาลจากศาลจังหวัดบุรีรัมย์ มี กยศ.เป็นโจทย์ ฟ้องตนเป็นจำเลยที่ 1 และคนค้ำประกันอีก 2 คนเป็นจำเลยที่ 2 และ 3 รวม 3 คน ว่าให้ดำเนินการบังคับคดี เพื่อสืบทรัพย์นำไปขายทอดตลาด แล้วนำเงินที่ได้ไปชำระ กยศ.พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 120,643.85 บาท
ตนและครอบครัวต่างตกใจ และไม่เข้าใจแนวทางการทำงานของ กยศ.ทั้งที่ตนเต็มใจให้หักเงินเดือน และถูกหักมาโดยตลอดเป็นเวลา 5 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2562-2566 คิดเป็นเงินกว่า 60,000 บาท และเมื่อไปตรวจสอบยอดบัญชีแล้ว เงินต้นไม่เคยลดลงเลย
จึงอยากจะฝากถึง กยศ.และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นคนบุรีรัมย์ ออกมาชี้แจงและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเองในขณะนี้ หากถามว่า ตนพร้อมที่จะจ่ายหรือไม่ ตนพร้อม แต่ขอให้หักเงินเดือนเหมือนที่ผ่านมา เพราะลำพังจะหาเงินก้อนมาชำระคงไม่มีจ่าย