“เดวิด แลปปาร์เตียนต์” ประธานสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (UCI) ชื่นชมสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ แม้เป็นชาติเล็ก ๆ แต่สามารถทำผลงานยอดเยี่ยมในโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่ฝรั่งเศส ถึงจะไม่ได้เหรียญรางวัลแต่ก็มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ขณะเดียวกัน “เดวิด แลปปาร์เตียนต์” ก็สร้างความฮือฮาในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี “UCI Congress 2024” ว่าจะลงจะสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ในปีหน้า ด้าน “เสธ.หมึก” เผยสหพันธ์จักรยานแห่งอาเซียน (ACF) และสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่เพราะเชื่อมั่นวิสัยทัศน์ในการทำงาน ด้านสมาชิกจากทั่วโลกร่วมไว้อาลัย “มูเรียล แฟร์แร” นักปั่นหญิงชาวสวิส ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุระหว่างการแข่งขันจักรยานถนนชิงแชมป์โลก UCI World Championships 2024
“เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี ประธานสหพันธ์จักรยานแห่งอาเซียน (เอซีเอฟ) และนายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูถัมภ์ เปิดเผยว่า ตนเองพร้อมคณะได้เข้าร่วมการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2024 ของสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (UCI) หรือ UCI Congress 2024 ที่หอประชุมซูริค ในนครซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 27-28 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งมี มร.เดวิด แลปปาร์เตียนต์ ประธานยูซีไอ เป็นประธานในที่ประชุม พร้อมด้วยมวลสมาชิกของยูซีไอที่เดินทางมาจากทุกทวีปทั่วโลก
พลเอกเดชา กล่าวว่า สำหรับการประชุมใหญ่สามัญของยูซีไอ เมื่อวันที่ 27 กันยายน มีเนื้อหาสาระมากมายเป็นประวัติการณ์และใช้เวลาในการประชุมยาวนานที่สุดตั้งแต่เวลา 09.00 น. จนไปสิ้นสุดการประชุมในเวลาประมาณ 17.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นซึ่งช้ากว่าเวลาเมืองไทย 5 ชั่วโมง) รวม 8 ชั่วโมงเต็ม โดยก่อนการประชุม มวลสมาชิกในที่ประชุมร่วมยืนไว้อาลัยต่อการเสียชีวิตของ มูเรียล แฟร์แร นักปั่นสาวชาวสวิสที่เกิดอุบัติเหตุระหว่างการแข่งขันจักรยานประเภทถนนชิงแชมป์โลก UCI World Championships 2024 รายการโรดเรซ รุ่นเยาวชนหญิง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ซึ่งในรายกานนี้มีนักปั่นไทยคือ น.ส.ณัฐชา สงเคน ร่วมประชันฝีเท้าและเกิดอุบัติเหตุล้มอยู่ในกลุ่มเดียวกันแต่ปลอดภัยดี
นายกสองล้อไทย กล่าวอีกว่า ขณะที่การประชุมยูซีไอ คองเกรส มีสาระสำคัญที่น่าสนใจคือการรับสมาชิกใหม่อีก 2 สหพันธ์ ได้แก่ พาเลา และนูร์มี ส่งผลให้ยูซีไอมีสมาชิกจำนวน 205 ชาติ และเป็นหนึ่งในสหพันธ์กีฬานานาชาติที่มีชาติสมาชิกมากที่สุด อีกทั้งยังมีการขยายความนิยมในกีฬาจักรยานไปทั่วทุกมุมโลก และหลาย ๆ ภูมิภาค เช่น ทวีปเอเชีย และทวีปแอฟริกา ก็เริ่มพัฒนามาตรฐานเข้าใกล้มหาอำนาจกีฬาสองล้อในทวีปยุโรปเข้ามาทุกขณะ นอกจากนี้ มร.เดวิด แลปปาร์เตียนต์ ได้กล่าวแสดงความชื่นชมประเทศไทย, รวันดา, เวียดนาม และอัฟกานิสถาน ซึ่งต่างก็เป็นชาติเล็ก ๆ ในวงการกีฬาจักรยานโลก แต่สามารถทำผลงานจนเป็นที่ประจักษ์ในโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งแม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จด้านเหรียญรางวัล แต่ก็เห็นได้ชัดว่ามีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด
พลเอกเดชา กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมยูซีไอ คองเกรส ที่น่าใจอีกประการก็คือการแก้ธรรมนูญของยูซีไอในเรื่องการบรรจุเพิ่มจักรยานหิมะเข้าเป็นกีฬาภายใต้การดูแลของยูซีไอ ซึ่งก็ส่งผลให้กีฬาจักรยานจะมีชนิดกีฬาฤดูหนาวเพิ่มขึ้นในอนาคต ขณะที่จักรยานประเภทลู่ที่เป็นหนึ่งในชนิดกีฬาหลักของยูซีไอ ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงกติกาการแข่งขันเพื่อให้ทันยุคสมัยอีกหลายประเด็น ทั้งเรื่องระยะทางการแข่งขันของรายการเปอร์ซูตบุคคล และสแครตช์เรซ รวมไปถึงปรับระบบคะแนนสะสมโลกนักปั่นประเภทลู่ให้กระชับมากขึ้น ซึ่งจะเริ่มต้นใช้ธรรมนูญใหม่ในปี 2025
“เรื่องที่ฮือฮาที่สุดในที่ประชุมก็คือการประกาศอย่างเป็นทางการของ มร.เดวิด แลปปาร์เตียนต์ ที่ยืนยันว่าจะสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ที่ มร.โทมัส บาค ประธานไอโอซีคนปัจจุบันจะหมดวาระในเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งหาก มร.เดวิด แลปปาร์เตียนต์ ได้รับเลือกตั้งเข้ารับตำแหน่งประธานไอโอซี ก็จะทำให้ไม่สามารถลงเลือกตั้งประธานยูซีไอที่จะมีขึ้นระหว่างการแข่งขันจักรยานประเภทถนนชิงแชมป์โลก 2025 ที่ประเทศรวันดา ในเดือนกันยายน 2568 ซึ่งหากเป็นจริงยูซีไอก็จะได้ผู้นำคนใหม่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ทั้งนี้ ผมได้ยืนยันกับ มร.เดวิด แลปปาร์เตียนต์ ไปแล้วว่า สหพันธ์จักรยานแห่งอาเซียน หรือ เอซีเอฟ และสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ยินดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการเลือกตั้งประธานไอโอซี เพราะเชื่อมั่นวิสัยทัศน์ในการทำงานของ มร.เดวิด แลปปาร์เตียนต์ ที่เล็งเห็นถึงการพัฒนาพื้นฐานกีฬาของชาติต่าง ๆ เป็นสำคัญ” พลเอกเดชา กล่าว
นอกจากนี้ ในการประชุมยูซีไอ คองเกรส 2024 มีการประกาศและมอบรางวัล ยูซีไอ เมอริต อวอร์ด เพื่อเชิดชูเกียรติบุคลากรกีฬาจักรยานที่อุทิศตนทุ่มเทพัฒนากีฬาจักรยานทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ จำนวน 5 คนจากทั่วโลก และผู้ที่ได้รับรางวัลเมอริต อวอร์ด จากเอเชียในปีนี้ได้แก่ มร.โอซามะห์ อัลชาฟาร์ รองประธานยูซีไอ และประธานสมาพันธ์จักรยานแห่งเอเชีย (ACC) โดยก่อนหน้านี้ยูซีไอก็ได้มอบรางวัล ยูซีไอ เมอริต อวอร์ด เพื่อเชิดชูเกียรติให้แก่ พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ เมื่อปี 2011 ในฐานะเป็นผู้ที่มีความอุตสาหะวิริยะ อุทิศตน และเสียสละปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นผู้บุกเบิกกีฬาจักรยานของไทยและผลักดันให้ทั่วโลกได้รู้จักประเทศไทย จนนักกีฬาของไทยก้าวสู่อันดับต้น ๆ ของโลก
ส่วนอีกประเด็นที่สำคัญคือการประกาศเจ้าภาพจักรยานชิงแชมป์โลกประเภทต่าง ๆ ซึ่งหลายชนิดกีฬาจักรยานได้เจ้าภาพจัดการแข่งขันไปจนถึงปี 2030 โดยเจ้าภาพแต่ละประเภท ที่สำคัญมีดังนี้ ประเภทถนน ประเทศรวันดา ปี 2025, ประเทศแคนาดา ปี 2026, ประเทศฝรั่งเศส ปี 2027, ประเทศเดนมาร์ก ปี 2029 และประเทศเบลเยี่ยม ปี 2030 / ประเภทลู่ ประเทศชิลี ปี 2025, ประเทศจีน ปี 2026, ประเทศฝรั่งเศส ปี 2027, ประเทศปารากวัย ปี 2028 /ประเภทบีเอ็มเอ็กซ์เรซซิง ประเทศเดนมาร์ก ปี 2025, ประเทศออสเตรเลีย ปี 2026, ประเทศฝรั่งเศส ปี 2027, ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี 2028 / ประเภทเสือภูเขา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปี 2025, ประเทศอิตาลี ปี 2026, ประเทศฝรั่งเศส ปี 2027 และประเทศออสเตรีย ปี 2028.